วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

อึ้ง!! สคร.9 เผยผลศึกษากลุ่มประชาชนทั่วไปติดเชื้อเอดส์สูงมากกว่าผู้ต้องขังถึง 4.66 เท่าวอนช่วยกันลดการติดเชื้อรายใหม่



          เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก ( สคร.9 ) กรมควบคุมโรค เผยว่า จากข้อมูลของศูนย์ชันสูตรโรคของหน่วยงาน ที่ได้บริการตรวจคัดกรองเพื่อหาการติดเชื้อเอชไอวี และตรวจกรองโรคซิฟิลิส จำนวน 1 ปีงบประมาณ 2555 ให้กับหน่วยงาน 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มประชาชนทั่วไปที่ไปใช้บริการหน่วยงานสาธารณสุข ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาล และศูนย์บริการและพัฒนาวิชาการฯ ของ สคร.9 พิษณุโลก 2) กลุ่มนักโทษและผู้ต้องขังในเรือนจำกลาง เรือนจำจังหวัด เรือนจำอำเภอ และทัณฑสถานหญิงจำนวน10 แห่งในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง และ3) กลุ่มหญิงอาชีพพิเศษ รวมทุกกลุ่มตรวจทั้งหมดจำนวน 2,185 ราย พบผลเลือดบวกต่อเชื้อเอชไอวีทั้ง 3 กลุ่มรวมกันจำนวน 30 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.37 และพบโรคซิฟิลิส พบจำนวน 11 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.5 แต่หากจำแนกออกมาแต่ละกลุ่มจะพบข้อมูลที่ความเสี่ยงการติดเชื้อที่แตกต่างกันได้อย่างชัดเจนคือ

1) กลุ่มประชาชนทั่วไปที่ไปใช้บริการหน่วยงานสาธารณสุข ตรวจทั้งหมดจำนวน 283 ราย พบผลเลือดบวกต่อเชื้อเอชไอวีจำนวน 12 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.24 แต่ไม่พบผลโรคซิฟิลิส

2) กลุ่มนักโทษและผู้ต้องขังเรือนจำและทัณฑสถานหญิง ตรวจทั้งหมดจำนวน 1,644 ราย พบผลเลือดบวกต่อเชื้อเอชไอวีจำนวน 15 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.91 และพบโรคซิฟิลิสจำนวน 9 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.54

3) กลุ่มหญิงอาชีพพิเศษ ตรวจทั้งหมดจำนวน 258 ราย ผลเลือดบวกต่อเชื้อเอชไอวีจำนวน 3 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.16 และพบโรคซิฟิลิส จำนวน 2 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.77

เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ากลุ่มประชาชนทั่วไปที่ไปใช้บริการหน่วยงานสาธารณสุขมีความเสี่ยงการติดเชื้อเอชไอวีมากที่สุด รองลงมาคือนักโทษและผู้ต้องขังเรือนจำและทัณฑสถานหญิง และลำดับสุดท้ายคือหญิงอาชีพพิเศษ โดยกลุ่มประชาชนทั่วไปติดเชื้อเอชไอวีสูงมากกว่านักโทษและผู้ต้องขังถึง 4.66 เท่า จึงแนะนำว่าประชาชนควรประเมินความเสี่ยงการติดเชื้อเอชไอวีของตนเองโดยการไปขอคำปรึกษาจากหน่วยบริการสาธารณสุขที่ไว้วางใจ และตรวจเลือดโดยสมัครใจ เพื่อประโยชน์ในการรับรู้สถานภาพการติดเชื้อเอชไอวีของตนเอง

ดังนั้นในวันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปีได้กำหนดให้เป็นวันเอดส์โลก โดยในปี 2555 นี้โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ได้กำหนดกรอบในการรณรงค์วันเอดส์โลก ว่า “ Getting to Zero” หรือ “เอดส์ลดให้เหลือศูนย์ได้” ได้แก่ การไม่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ไม่มีการตายเนื่องจากเอดส์ และไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ รวมทั้งเรียกร้องให้ประชาชนในทุกประเทศได้ร่วมกันรณรงค์เพื่อนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวข้างต้นโดยพร้อมเพรียงกันเพื่อเป็นการสร้างกระแสความตื่นตัว และส่งเสริมให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับปัญหาการแพร่ระบาด และผลกระทบจากโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยในปีนี้มีจุดเน้นการรณรงค์เป็นพิเศษคือ “ลดการติดเชื้อรายใหม่” ซึ่งความคาดหวังการรณรงค์นี้จะเป็นจริงได้ ต้องอยู่ที่ความร่วมมือของประชาชนทุกคน เพียงไม่ใช้เข็มร่วมกัน สวมถุงยางอนามัยเมื่อเสี่ยงทุกครั้ง เราก็จะหยุดยั้งโรคเอดส์ให้เป็นศูนย์ได้



ข่าวนี้สนับสนุนยุทธศาสตร์ที่ 3 กรมควบคุมโรค : การสื่อสารสาธารณะและประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงและได้ผล เพื่อป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ

 
รายละเอียดภาพข่าวนี้ทั้งหมดที่ http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/2556/11_30_AIDS.html

        

ฆนรส จ่างคำ / รายงาน

จิดาภา รอดอยู่ / เผยแพร่

เชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ/ ตรวจทาน

โดย…กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ

สำนักงานป้องควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก

กรมควบคุมโรค รู้ก่อน รู้ทัน ป้องกันได้

โทร 0-5521-4615 -7 ต่อ 333 หรือ 334 โทรสาร 0-5532-1238

Email : dpc9phs@yahoo.com

ดูข่าวสุขภาพใหม่ ๆ ตลอดเวลาได้ที่ http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น