เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2555 เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยว่า โรคไข้เลือดออก มียุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรค ชอบวางไข่ตามภาชนะที่มีน้ำขังนิ่ง และกัดคนในเวลากลางวัน โรคนี้สามารถพบได้ทุกกลุ่มอายุ แต่กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ วัยเด็ก โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 10-14 ปี และ 5-9 ปีตามลำดับและมีแนวโน้มพบสูงขึ้นในกลุ่มอายุ 15-24 ปีด้วย เป็นโรคที่ผันแปรตามฤดูกาล โดยจะพบผู้ป่วยมากขึ้นในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือน พฤษภาคม ของทุกปีเป็นต้นไป และพบสูงสุดประมาณเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนสิงหาคม หลังจากนั้นจะค่อยลดจำนวนการป่วยลง
ปัจจัยที่สนับสนุนการแพร่กระจายของโรคอีกอย่างหนึ่งคือ การเคลื่อนย้ายของประชากร การเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือท่องเที่ยว หากมีการติดเชื้อจากผู้ป่วยอาจจะขยายไปยังพื้นที่อื่นอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ผู้ที่เดินทางไปในต่างถิ่นซึ่งอาจเกิดโรคอยู่โดยที่ตนเองไม่ทราบ
ข้อมูลจาก สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 21 พฤษภาคม 2555 พบผู้ป่วยจำนวน 10,147 ราย มีการระบาดในหลายพื้นที่ตั้งแต่ช่วงฤดูร้อน มีผู้ป่วยแนวโน้มสูงผิดปกติต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี อัตราป่วยประมาณ 16 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน ในจำนวนนี้เสียชีวิต 9 ราย ผู้ป่วยและตายในกลุ่มอายุมากกว่า 15 ปีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อัตราป่วยสูงในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน และในจังหวัดอื่นๆ จึงมีแนวโน้มว่าจะเกิดการระบาดของโรคนี้รุนแรงในปี พ.ศ. 2555
ดังนั้นกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ จึงได้มีมติร่วมกันที่จะรวมกันเป็นหนึ่งในการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก โดยกำหนดให้วันที่ 15 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวัน ASEAN Dengue Day และรณรงค์ให้ภาคีภาคส่วนต่างๆ จัดกิจกรรมดูแลสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยจัด Big Cleaning Day ทุกวันที่ 15 ของทุกเดือน และกำจัดลูกน้ำยุงลายสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ และใช้สโลแกน “เก็บให้เกลี้ยงไม่เลี้ยงยุงลาย” เป้าหมายหลักคือ แม่บ้าน คนที่ดูแลบ้าน คนงานดูแลที่พัก มุ่งเน้นวิธีการป้องกันโรคด้วยวิธีทางกายภาพที่ทำได้ด้วยตนเองโดยการดูแลสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และการกำจัดลูกน้ำยุงลายในภาชนะขังน้ำทุกสัปดาห์เพื่อตัดวงจรการเกิดยุงลาย
กรมควบคุมโรค ตระหนักว่าการสื่อสารแจ้งเตือนให้ประชาชนดูแลสุขภาพอนามัย ป้องกันโรคไข้เลือดออกและไข้ปวดข้อยุงลาย รวมทั้งการร่วมมือของชุมชนและท้องถิ่นจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาชนห่างไกลโรคและมีสุขภาพดี สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง จึงรณรงค์ให้ประชาชนมีพฤติกรรมการ เก็บ “เก็บให้เกลี้ยงไม่เลี้ยงยุงลาย” 3 เก็บ คือ
เก็บ 1 เก็บขยะ เศษภาชนะขังน้ำแหล่งเพาะพันธุ์ยุง วัสดุเหลือใช้นำไปขายเป็นรายได้เสริม เก็บแล้วรวย
เก็บ 2 เก็บบ้าน ให้ปลอดโปร่งยุงลายไม่เกาะพัก ขัดล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ เปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์
เก็บ 3 เก็บน้ำ น้ำกินน้ำใช้เก็บให้มิดชิด โดยการปิดฝาโอ่ง ถัง ไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่
โดยกระทำควบคู่ไปกับมาตรการที่ประชาชนคุ้นเคย และสามารถปฏิบัติได้เป็นผลดี คือ 5 ป.ปราบยุงลาย
ป 1 ปิด ปิดภาชนะขังน้ำให้มิดชิด ป้องกันยุงลายลงไปวางไข่
ป 2 เปลี่ยน เปลี่ยนน้ำในแจกัน ถังเก็บน้ำ ทุก 7 วันที่ตรงกันทั้งชุมชนไม่น้อยกว่า 6 สัปดาห์ เพื่อตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง
ป 3 ปล่อย ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร เช่นปลาหางนกยูง ปลากัด ปลากระดี่
ป 4 ปรับปรุง สิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง โล่ง สะอาด ลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย
ป 5 ปฏิบัติ เป็นประจำจนเป็นนิสัย
ดังนั้นเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก ประชาชนควรป้องกันตนเองและร่วมมือกันทุกบ้านในชุมชนกำจัดลูกน้ำยุงลายให้หมดไปหรือให้เหลือน้อยที่สุด จะทำให้ชุมชนนั้นปลอดโรคไข้เลือดออก ทุกบ้านสามารถกำจัดลูกน้ำยุงลายได้ด้วยตนเองอย่างง่ายๆ เช่น ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำยุงลายทีมีฟอส หรือ ทรายอเบทในภาชนะใส่น้ำทุกชนิดทุกภาชนะ โดยใช้ทรายกำจัดลูกน้ำ 1 ช้อนโต๊ะใส่ในภาชนะที่มีความจุน้ำ 5 ปี๊ป ซึ่งขนาดของทรายดังกล่าวสามารถกำจัดลูกน้ำได้นาน 1-3 เดือน โดยที่คนและสัตว์เลี้ยงที่ใช้น้ำดังกล่าวไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ
เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวแนะนำต่อว่า หากสงสัยบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ไข้สูงลอยนานเกิน 2 วัน ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึม เบื่ออาหาร หน้าแดง คอแดง ปวดศีรษะหรือปวดกระบอกตา อาจพบจุดเลือด ที่ผิวหนัง กดเจ็บชายโครงด้านขวา มักไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ให้สงสัยเป็นไข้เลือดออก และรีบไปรับการตรวจรักษาที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทันที จะทำให้ลดการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกได้
ข้อความหลัก " เก็บให้เกลี้ยง ไม่เลี้ยงยุงลาย ทำลายแหล่งเพาะพันธ์ ป้องกันไข้เลือดออก”
กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น