วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2555
แนะผู้ขับรถโดยสารสาธารณะสุขภาพดีได้ ควรรู้เตรียม รู้ระวัง รู้จัดการ ปลอดภัยตนเองและผู้โดยสาร
เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2555 เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยว่า ในปัจจุบันการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะเพื่อการเดินทางนับเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกันก็มีมาตรฐานที่แตกต่างกันไปตามลักษณะของผู้ประกอบการ จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก พบว่าอุบัติเหตุจากรถโดยสารขนาดเล็ก ( รถตู้ ) ปี 2554 ( ณ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2554 )จำนวน 869 ครั้ง สาเหตุเกิดจากอุปกรณ์ชำรุด ร้อยละ 16.5 รองลงมาคือขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนดร้อยละ 9.7 และเมาสุราร้อยละ 9.0 ตามลำดับ และผลการสุ่มตรวจสุขภาพพนักงานขับรถ โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่าประมาณร้อยละ 25ขับรถมากกว่าวันละ 8 ชั่วโมง เป็นโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 20 โรคเบาหวานร้อยละ 6 และยังพบมีพฤติกรรมเสี่ยง คือ ดื่มเหล้าและสูบบุหรี่อีกประมาณร้อยละ 50 - 60
อาชีพขับรถโดยสารสาธารณะ เป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการบังคับหรือควบคุมเครื่องยนต์ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติจากการขับรถเร็ว ทั้งที่เกิดจากรถตัวเองหรือจากรถคันอื่น นอกจากนั้นยังต้องใช้ประสาทสัมผัสตลอดเวลา ทั้งการมองเห็น การได้ยิน และสมองยังต้องสั่งให้มือและเท้าทำงานไปพร้อมๆ กันให้ได้ด้วย สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค ได้ให้คำแนะนำสำหรับผู้ขับรถโดยสารสาธารณะเพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ดังนี้
รู้เตรียม : เป็นการเตรียมความพร้อม “ก่อน” ขับรถ
1. ตรวจสอบสภาพรถก่อนขับรถ เพื่อให้รถมีความพร้อมที่สุด โดยเฉพาะระบบเบรก ยางล้อ ที่ปัดน้ำฝน แตรรถ ไฟรถ และน้ำมันเครื่อง
2. ตรวจสอบสุขภาพตัวเองก่อนขับรถ
- อย่าขับรถเด็ดขาด เมื่อรู้ตัวว่าต้องกินยาที่ทำให้ง่วงได้ หรือ มีอาการไม่สบายตัวหลังกินเหล้า หรือ เมา
- หากป่วยเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือลมชัก ต้องกินยาให้สม่ำเสมอ หากขาดยาไม่ควรขับรถ เพราะอาการอาจกำเริบขณะขับได้
- หากมีปัญหาสายตา เช่น สั้น ยาว เอียง ควรใส่แว่นตลอดเวลาที่ขับรถ
- หากป่วยเป็นหวัด ไข้หวัด ทำให้ไอมาก หรือมีน้ำมูก ควรเตรียมหน้ากากอนามัยไว้เพื่อป้องกันเชื้อโรคแพร่กระจายในรถ
รู้ระวัง : ดูแลตนเอง ระหว่าง ขับรถ
1. ระหว่างขับรถ ควรเปิดหน้าต่างเป็นระยะ เพื่อการถ่ายเทอากาศ
2. ในช่วงฤดูร้อน แสงแดดแรงจัดกว่าฤดูอื่น ทำให้ผู้ขับขี่สายตาพร่ามัว ควรสวมแว่นตากัน ควรสวมแว่นตากันแดด หรือใช้ที่บังแดดร่วมด้วย เพื่อลดแสงจ้า หรือแสงสะท้อนโลหะ ที่ทำให้มองเห็นไม่ถนัดขณะขับรถ
3. หลีกเลี่ยงการขับรถติดต่อกันเป็นเวลานาน หากกำลังขับรถอยู่ ช่วงรถติดหรือติดไฟแดง สามารถลดอาการเมื่อยล้าของสายตาและกล้ามเนื้อได้โดยการมองต้นไม้เพื่อพักสายตา นวดต้นคอและบ่า หายใจลึก ๆ และยืดลำตัว
4. หากเกิดอาการปวดเมื่อยขณะขับรถ ใช้หมอนเล็กๆ สอดไว้ที่หลังส่วนล่างระหว่างเบาะกับหลัง แต่ไม่ควรพิงหมอนนี้ตลอด เพราะจะเกิดความล้าต่อหลัง
5. เมื่อจอดพักรถ ควรบัดตัว บริหารร่างกาย ยืดหลัง ปลายเท้า น่อง หน้าขา ตามความเหมาะสม จิบน้ำเป็นระยะ เพื่อให้ร่างกายสดชื่น ตื่นตัวตลอดเวลา
รู้จัดการ : ดูแลตนเอง หลัง จากขับรถ
1. เมื่อถึงบ้าน อาบน้ำ และล้างมือให้สะอาดก่อนกินข้าว
2. ทำการนอนพัก ยกขาสูง โดยการนอนราบกับพื้น แขนขนานลำตัว แล้วทำการยกขา แบบงอเข่าเล็กน้อยพาดกับเก้าอี้หรือโซฟา เป็นเวลาประมาร 10-15 นาที จะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อหลังได้
3. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6 ชั่วโมง ก่อนจะขับรถในวันหรือครั้งต่อไป
เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากนี้ผู้ขับรถโดยสารสาธารณะ ควรตรวจสุขภาพร่างกาย เช่น สายตา บาหวาน ความดัน หัวใจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
ข้อความหลัก " รณรงค์โรคและภัยจากการทำงาน ใส่ใจสุขภาพในการขับรถสักนิด เพื่อชีวิตของคุณและผู้โดยสาร ”
กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี
ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/2555/04_29_drive.html
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น