วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555

แนะทุกคนมีส่วนร่วมได้ เริ่มที่ตัวเรา เราปลอดวัณโรคเมืองไทยก็ปลอดวัณโรคด้วย



เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานพบผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ทั่วโลกถึง 8.8 ล้านคน เสียชีวิต 1.4 ล้านราย สำหรับประเทศไทยจัดเป็น 1 ใน 22 ประเทศของโลกที่ยังมีปัญหาวัณโรครุนแรง กระทรวงสาธารณสุข คาดว่ามีผู้ป่วยวัณโรคทุกชนิดรวมกันประมาณ 130,000 คน ร้อยละ 80 เป็นวัณโรคปอด มีผู้เสียชีวิตจากวัณโรคถึงปีละ 11,000 ราย มีผู้ป่วยรายใหม่อีกปีละ 94,000 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 3-4 ต่อปีมาตลอด ในจำนวนนี้ร้อยละ 50 อยู่ในระยะแพร่เชื้อและร้อยละ 16 ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย


วิเคราะห์แนวโน้มปัญหาวัณโรคของไทย อาจรุนแรงขึ้นกว่าเดิมอีกมาจากสาเหตุ 2 ประการ คือ จากการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวี ซึ่งทำให้ผู้ติดเชื้อมีภูมิต้านทานต่ำมีโอกาสติดเชื้อวัณโรคได้สูงกว่าคนปกติถึง 37 เท่า ( ที่ผ่านมาพบได้ประมาณร้อยละ 16 ) และจากปัญหาเชื้อวัณโรคดื้อยาเพราะผู้ป่วยขาดยา กินยาไม่ต่อเนื่องทำให้เชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้น คาดว่าขณะนี้ผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานถึง 1,920 ราย จากสถานการณ์ดังกล่าวที่พบผู้ป่วยและตายจากวัณโรคในประเทศไทยค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆในโลก กรมควบคุมโรค จึงได้ดำเนินการแก้ปัญหาวัณโรคซึ่งยังคุกคามสุขภาพประชาชาชนอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

โรควัณโรคเป็นภัยเงียบใกล้ตัว จัดเป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิด มัยโครแบคทีเรียม ทำให้โรคนี้เป็นได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย แต่ที่พบมากและเป็นปัญหามากที่สุด คือ “วัณโรคปอด” การติดต่อนั้น เชื้อวัณโรคจะแพร่กระจายออกจากปอดผู้ป่วยวัณโรค ทางละอองเสมหะ เมื่อเมื่อผู้ป่วยไอ จามโดยไม่ใช้ผ้าปิดปากหรือจมูก ทำให้ละอองเสมหะที่มีเชื้อวัณโรคเกิดฟุ้งกระจายไปในอากาศบุคคลที่ใกล้ชิดในห้องเดียวกัน หรืออาศัยอยู่บ้านเดียวกัน เมื่อสูดลมหายใจจะได้รับละอองเสมหะที่มีเชื้อวัณโรคเข้าสู่ปอดได้ ผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นวัณโรคมากขึ้น คือ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือเอดส์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคไต ผู้ที่ใช้ยาเสพติด เช่น บุหรี่ เหล้า ยาบ้า ผู้ที่มีผู้ป่วยวัณโรคในครอบครัวที่ไม่ได้รักษา

อาการเบื้องต้นของของวัณโรคปอด คือ ไอเรื้อรังอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ไอแห้ง หรือไอมีเสมหะ มีเลือดปน อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ต่ำๆ ช่วงบ่ายถึงเย็น หรืออาจมีเหงื่อออกมากตอนกลางคืน อาจมีน้ำหนักตัวลดผอมลง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เหนื่อยหอบ เจ็บหน้าอก ซึ่งการตรวจค้นหาเชื้อวัณโรคจะทำได้โดยการตรวจเสมหะและการเอกซเรย์ปอดจากแพทย์ แต่หากป่วยเป็นวัณโรค อย่าตกใจ เพราะโรคนี้ปัจจุบันมียารักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถรักษาให้หายได้ โดยใช้เวลาในการรักษา 6-8 เดือน

องค์การอนามัยโลก จึงได้กำหนดให้วันที่ 24 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันวัณโรคโลก(World TB Day) เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้ประชาชนตระหนักถึงภัยอันตรายจากวัณโรค สำหรับในปี 2555 ได้กำหนดแนวคิดหลักในสื่อสาร และคำขวัญในการรณรงค์ คือ Stop TB in my lifetime :We want “ Thailand Free TB” ภาษาไทย คือ “เมืองไทย ปลอดวัณโรค” ดังนั้น สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก จึงร่วมกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันวันโรคโลก ในวันที่ 24 มีนาคม 2555 ตั้งแต่เวลา 17.00น.เป็นต้นไป ณ บริเวณถนนคนเดิน (หน้าวัดจันทร์ตะวันออก) อ.เมือง จ.พิษณุโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนตระหนักถึงภัยอันตรายจากวัณโรคโดยเฉพาะวัณโรคดื้อยา ในงานมีซุ้มนิทรรศการให้ความรู้เรื่องวัณโรค และกิจกรรมให้ผู้ร่วมงานได้มีส่วนร่วม ตอบคำถามความรู้และแจกของที่ระลึกมากมาย จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจร่วมกิจกรรมตามวันเวลาและสถานที่ดังกล่าว

เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวต่อว่า อย่าลืมคุณคือคนสำคัญที่สามารถช่วยป้องกันและควบคุมวัณโรคได้ มาช่วยกันรู้ทันวัณโรค หากตนเองป่วยเป็นวัณโรคต้องกินยาให้ครบตามแผนการรักษา ไม่หยุดยาเอง ใช้หน้ากากอนามัยหรือผ้าปิดปากหรือจมูกเมื่อไอ จาม ทุกครั้ง หรือหากคนเอง บุคคลในครอบคัว ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย เพื่อนร่วมงาน มีอาการสงสัย ไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ ควรแนะนำหรือพามารับการตรวจหาเชื้อวัณโรค ที่สถานบริการสาธารณสุข หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน “ เริ่มที่ตัวเรา เราปลอดวัณโรค เมืองไทยก็ปลอดวัณโรคด้วย “

ข้อความหลัก " เริ่มที่ตัวเรา เราปลอดวัณโรค เมืองไทยก็ปลอดวัณโรคด้วย”

กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/2555/03_23_TBday.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น