วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2555
แพทย์เตือนหยุดเผาป่าด่วน เสี่ยงเกิดฝนกรดกำมะถัน ตกลงมาทำลายดิน น้ำ พืชเกษตรยับเยิน ซ้ำร้ายสุขภาพอ่วม
ดร.นายแพทย์ศักดิ์ชัย ไชยมหาพฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยว่า ก๊าซกำมะถัน (ซัลเฟอร์ไดออกไซด์) เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติอันเกิดเนื่องมาจากมลพิษทางอากาศ จากเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ที่มีสารกำมะถันปนอยู่ ที่สำคัญในช่วงนี้ของประเทศไทยในภาคเหนือหลายพื้นที่คือการเผาป่า ฟางหญ้า อ้อย ฯลฯ ที่นอกจากจะเกิดปัญหาหมอกควันแล้ว ยังเป็นปัจจัยสำคัญในปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ขึ้นสู่บรรยากาศอีกด้วย อาจถูกกระแสลมพัดพาไปได้หลายร้อยกิโลเมตร ก๊าซนี้มีลักษณะกลิ่นเหม็นแต่จะไม่ระเบิด มักจะทำปฏิกิริยากับสารเคมีส่งผลทำให้อากาศอบอ้าว ร้อนชื้น
ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ถ้ามีความเข้มข้นในระดับ 0.3-0.1 พีพีเอ็ม จะเป็นก๊าซที่ไม่มีสี มีกลิ่นกรด แต่ถ้ามีความเข้มข้นสูงมากกว่า 3 พีพีเอ็มขึ้นไป จะมีกลิ่นฉุน แสบจมูก หน่วยบริการตรวจสภาพแวดล้อม กลุ่มพัฒนาภาคีเครือข่าย ของหน่วยงานได้ดำเนินการตรวจวิเคราะห์คุณภาพอากาศในบรรยากาศจากปัญหาเกิดหมอกควันปกคลุมพื้นที่จังหวัดตาก เพื่อค้นหาชนิดของก๊าซพิษที่ปนเปื้อนในหมอกควัน เป็นการเฝ้าระวังและป้องกันภัยคุกคามสุขภาพแก่ประชาชน โดยดำเนินการตรวจวัดปริมาณก๊าซภายในอาคาร ในช่วงระหว่างวันที่ 26-29 กุมภาพันธ์ 2555 ด้วยเครื่องวิเคราะห์ก๊าซในอากาศระบบแสงอินฟราเรดแบบอ่านค่าทันที
ผลการตรวจครั้งนี้เป็นที่น่ากังวลอย่างมากต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่ เพราะพบก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินค่ามาตรฐานกำหนดในบรรยากาศโดยทั่วไป โดยเฉพาะในเวลากลางวันในหลายสถานที่ เช่น สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองตาก ปริมาณ 3.58 พีพีเอ็ม สำนักงานสาธารณสุขอำเภอแม่สอด ปริมาณ 2.13 พีพีเอ็ม ท่าอากาศยานแม่สอด ปริมาณ 1.82 พีพีเอ็ม และโรงพยาบาลอุ้มผาง ปริมาณ 1.06 พีพีเอ็ม ( ค่ามาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 24 พ.ศ. 2547 ไม่เกิน 0.12 พีพีเอ็ม ตลอดระยะเวลา 24 ชั่วโมง )
โดยปกติในบรรยากาศมีส่วนประกอบที่เป็นไอน้ำ หมอก เมฆ และฝน เมื่อก๊าซนี้ถูกปล่อยลอยจากพื้นเข้าสู่ชั้นบรรยากาศจะทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีกับน้ำกลายเป็นกรดกำมะถัน ( กรดซัลฟูริค ) หรือฝนกรด และมักจะกลับสู่พื้นโลกโดยฝน หมอก หรือแม้แต่ในรูปฝุ่นผงละออง ซึ่งจะทำลายระบบนิเวศน์ ป่าไม้ จะละลายปุ๋ยในดิน ทำให้พืชเติบโตช้า หรือทำให้พืชผลการเกษตรส่วนมากตายลง เมื่อไหลลงแหล่งน้ำ ก็จะทำให้แหล่งน้ำนั้น ๆ ไม่เอื้ออำนวยให้สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมถึงการกัดกร่อนอาคารและโบราณสถานอีกด้วย แม้แต่ในเมืองเอง ฝนกรดก็ก่อให้เกิดปัญหาวัตถุเกิดการผุกร่อน ส่งผลสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ
ก๊าซนี้เมื่อจับตัวรวมกับหมอกจะก่อให้เกิดหมอกควันพิษที่ทำอันตรายกับระบบทางเดินหายใจ และอาจรุนแรงถึงชีวิตได้หากมีมากถึงระดับหนึ่ง และจะมีอันตรายต่อร่างกายมากยิ่งขึ้นเมื่อรวมตัวกับฝุ่น เพราะบางชนิดสามารถดูดซึมและละลายก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ไว้ในตัว จะทำให้ระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ เช่น จมูก ลำคออักเสบ ซึ่งรวมถึงผลกระทบต่อการเจ็บป่วยของระบบทางเดินหายใจ โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ และผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ เด็ก คนชรา และผู้ป่วยโรคหืด โรคหลอดเลือดหัวใจหรือโรคปอด เช่น โรคหลอดลมอักเสบ ถุงลมโป่งพอง ถ้าสูดเข้าไปเสมอๆ ทำให้เกิดหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ที่สำคัญที่สุดจะเป็นอันตรายต่อปอด โดยเฉพาะในผู้ป่วยรายที่เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจอยู่แล้วจะมีอาการเพิ่มมากขึ้นเมื่อได้รับก๊าซนี้ในขนาด 0.25 ไมโรคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ขนาดได้กลิ่นฉุน)
ดร.นายแพทย์ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า ปัญหาหมอกควันจากการเผาป่าที่เกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงข้อเน้นย้ำให้งดการเผ่าป่า หรือกำจัดวัชพืชโดยวิธีการจุดไฟเผา แต่ให้ใช้วิธีการอื่นแทน เช่น การไถฝังกลบ ฯลฯ เพื่อป้องกันการลุกลามของไฟไปยังพื้นที่ป่า เพื่อลดปัญหาจากหมอกควัน ก๊าชซัลเฟอร์ไดออกไซด์ รวมทั้งการป้องกันอุบัติเหตุ และขอแจ้งเตือนให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น ระบบทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ หัวใจและหลอดเลือด และกลุ่มเด็กเล็ก หลีกเลี่ยงการสัมผัสและสูดดมก๊าซกำมะถันในบรรยากาศเป็นเวลานานๆ โดยการสวมใส่เครื่องป้องกันส่วนบุคคล เช่น หน้ากากอนามัย หรือผ้าชุบน้ำปิดปาก จมูก สวมใส่เสื้อแขนยาวขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ และควรใส่หน้ากากอนามัยปิดใบหน้าในหมวกนิรภัยขณะขับขี่ หากประชาชนมีอาการไอ อาเจียน แสบเยื่อบุตา ผิวหนังมีอาการร้อนแดง แสบเจ็บคอเวลาหายใจ ให้รีบปรึกษาหรือไปรับการตรวจรักษา ณ สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทันที
ข้อความหลัก " งดเผาป่าและฟางหญ้า สวมหน้ากากอนามัย ลดอันตรายจากหมอกควัน”
กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี
ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/2555/03_06_sulfur.html
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น