วันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2554
กลับบ้านอย่างปลอดภัยหลังน้ำลด ควรรู้เตรียม รู้ระวัง รู้ป้องกัน ไฟฟ้าช๊อต
เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยว่าจากสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานว่าร้อยละ 73 ของผู้เสียชีวิตจากการถูกไฟไฟฟ้าช็อต เกิดขึ้นในบ้านและที่พักอาศัยของตนเอง และในขณะนี้หลายพื้นที่ระดับน้ำท่วมขังลดลง ประชาชนจึงกลับเข้าไปสำรวจอาคารบ้านเรือนที่อยู่อาศัย สถานที่ปฏิบัติงานของตนเอง จึงขอให้คำแนะนำประชาชนผู้ประสบภัย ในการป้องกันไฟฟ้าช๊อตหลังน้ำท่วม ตามขั้นตอนต่อไปนี้
1) ตรวจสอบความปลอดภัยก่อนเข้าบูรณะซ่อมแซมที่อยู่อาศัย อาคาร โดยการโทรศัพท์ตรวจสอบตัดการจ่ายกระแสไฟฟ้าในพื้นที่บ้านของท่านที่หมายเลข 1129 ( ต่างจังหวัด ) และ 1130 ( กรุงเทพฯ ) หากยังไม่มีการตัดกระแสไฟฟ้า ให้เพิ่มความระมัดระวังก่อนเข้าไปในบริเวณบ้านสวมรองเท้าและถุงมือยางที่กันน้ำ
2) ตรวจสอบความเสียหายรอบ ๆ โครงสร้างตัวบ้าน ระเบียง หลังคา ให้แน่ใจว่าโครงสร้างทุกอย่างปลอดภัย และระมัดระวังการเข้าไปในบ้าน และอย่าใช้วัสดุที่ทำให้เกิดประกายไฟ
3) ดูร่องรอยของระดับน้ำที่ท่วมขังอยู่ว่าสูงเกินกว่าเต้ารับหรือสวิตซ์หลักหรือไม่ หากสูงเกินอย่าเดินลุยน้ำเข้าไปในบ้าน แต่ให้หาวัสดุที่เป็นฉนวน เช่น ลังไม้ กล่องพลาสติก เพื่อทำเป็นทางเดินไปปิดสวิตซ์หลัก
4) เดินตรวจตราในและรอบ ๆ บ้าน สายไฟฟ้าต้องมีสภาพสมบูรณ์ เต้ารับ สวิตซ์ไฟ ไม่เปียกชื้น ไม่มีน้ำขัง สายและถังแก๊สปิดวาล์วแก๊สสนิท หากได้กลิ่นแก๊สรั่วไม่ควรเข้าใกล้บริเวณนั้น
5) เปิดหน้าต่างและประตูเพื่อระบายอากาศ และให้ความชื้นระเหยออกไป
6) ห้ามใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่โดนน้ำท่วมมาแล้ว แต่ถ้าจะนำมาใช้ควรให้ช่างผู้ชำนาญตรวจสอบก่อน
7) อย่าแตะสวิทซ์ไฟฟ้า หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กำลังเสียบปลั๊กอยู่ในขณะที่ร่างกายเปียกชื้นหรือกำลังยืนอยู่บนพื้นเปียก หากจะเสียบปลั๊กอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ต้องมั่นใจว่าร่างกายแห้งสนิทไม่เปียก หากไม่แน่ใจควรสวมรองเท้า
เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ประชาชนควรรู้ คือ
1) กระแสไฟฟ้าจะกระจายเป็นวงกว้างไม่ต่ำกว่า 3- 5 เมตร จึงควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้เสาเหล็กที่มีอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือปลั๊กไฟฟ้า หรืออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ย้ายไม่ทัน
2) หากคาดว่าจะมีกระแสไฟฟ้ารั่ว ไม่ควรทดลองนำมือไปสัมผัส
3) หากประสบเหตุพบผู้กำลังถูกไฟฟ้าช๊อตห้ามนำมือไปจับ เพราะอาจจะทำให้เสียชีวิตทั้งสองคน
ก่อนจะเข้าไปช่วยเหลือเมื่อพบคนถูกไฟฟ้าช๊อตนั้น จะต้องตัดการจ่ายกระแสไฟฟ้าทันที โดยการสับคัตเอาท์หรือเต้าเสียบเพื่อตัดกระแสไฟฟ้า ผู้ที่จะเข้าไปช่วยเหลือร่างกายต้องแห้งและไม่เปียกน้ำ ให้สามรองเท้าเสมอ ต้องไม่สัมผัสผู้ถูกไฟฟ้าดูดโดยตรง ยืนในที่แห้งและใช้ไม้แห้งหรือฉนวนไฟฟ้าเขี่ยอุปกรณ์ไฟฟ้าให้พ้นจากผู้ที่ถูกกระแสไฟฟ้าดูด หรือใช้ผ้าแห้ง เชือกดึง ผู้ถูกไฟฟ้าดูดออกจากจุดที่เกิดเหตุโดยเร็ว แต่หากคนที่ถูกไฟฟ้าดูดมีอาการหมดสติและหัวใจหยุดเต้น ให้ขอความช่วยเหลือจากหน่วยบริการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 พร้อมทั้งให้นวดหัวใจโดยนวดอย่างน้อย 100 ครั้ง ต่อนาที และรีบนำส่งสถานบริการสาธารณสุขใกล้เคียงโดยทันที
ข้อความหลัก “ รู้เตรียม รู้ระวัง รู้สะอาด กลับบ้านอย่างปลอดภัย หลังน้ำลดต้องรู้ทัน ป้องกันไฟฟ้าช็อต”
กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี
ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/tv/2554_12_02_elec.html
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น