วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2554

หวั่นโรคไข้หวัดนกระบาดเข้าประเทศแนวชายแดน แนะสี่วิธีเคร่งครัดป้องกันโรค


เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยว่า แม้ว่าประเทศไทยจะพบผู้ป่วยไข้หวัดนกรายสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2549 หรือไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ในคนเป็นเวลา 5 ปีผ่านมาแล้ว แต่มีรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์โรคไข้หวัดนก เมื่อ เดือน พฤศจิกายน 2554 โดยประเทศกัมพูชาได้ออกประกาศกำหนดพื้นที่ไข้หวัดนกในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ภายหลังการตรวจพบโรคไข้หวัดนก เอช 5 เอ็น 1 ในซากไก่ตาย ซึ่งเกิดขึ้นในจังหวัดใกล้ชายแดนประเทศไทย ดังนั้นจากสถานการณ์ดังกล่าวจึงมีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดนก กรมควบคุมโรค จึงแนะนำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องการเฝ้าระวังโรค การนำเข้าสัตว์ปีก รวมถึงการเข้าออกของผู้เดินทาง โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนที่ติดกับประเทศกัมพูชา เพื่อป้องกันเชื้อไข้หวัดนกไม่ให้แพร่เข้ามาในประเทศไทย


โรคไข้หวัดนก เป็นโรคติดต่อของสัตว์ปีกเกิดจากเชื้อไวรัชเอช 5 เอ็น 1 และคนสามารถติดเชื้อโรคนี้ได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายด้วยโรคไข้หวัดนก ขณะนี้ยังไม่มีการติดต่อจากคนสู่คน และยังไม่พบการติดเชื้อไข้หวัดนก จากการบริโภคสัตว์ปีกที่ปรุงสุก แต่สิ่งที่น่ากังวลที่อาจเกิดขึ้น คือ หากเชื้อไวรัสไข้หวัดนก กลายพันธุ์เป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่สามารถติดต่อกันระหว่างคนได้ง่าย จะทำให้เกิดการระบาดใหญ่ไปทั่วโลก

เชื้อไวรัสไข้หวัดนกมีระยะฟักตัวในคน ประมาณ 2 - 8 วัน หลังจากนั้นผู้ได้รับเชื้อจะแสดงอาการป่วยโดยเริ่มจาก มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย มีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ และอาจพบอาการปวดท้อง อาเจียน ท้องเสียหรือปอดอักเสบแทรกซ้อนรุนแรง ทำให้หายใจขัด หอบ และเกิดระบบการหายใจล้มเหลวอย่างรวดเร็วจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ สาเหตุเกิดจากการจับต้องสัตว์ปีที่เป็นโรคโดยตรง หรือโดยทางอ้อม จากดิน น้ำ ฯลฯ ที่ปนเปื้อนสิ่งคัดหลั่งโดยเฉพาะมูลและเลือดของสัตว์ป่วย โดยเชื้ออาจติดมากับมือและเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุจมูก ตา และ ปาก

เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวแนะนำว่า วิธีป้องกันโรคไข้หวัดนกสำหรับประชาชนนั้นมี 4 วิธีหลัก คือ

1) ล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือน้ำทันทีทุกครั้งหลังจับต้องสัตว์ปีก หลังไอ จาม หลังเข้าห้องน้ำและก่อนรับประทานอาหาร

2) แยกสัตว์ปีกออกจากคนอย่าปนกัน สัตว์ปีกที่เลี้ยงในฟาร์มหรือตามบ้าน ต้องกั้นบริเวณที่เลี้ยงสัตว์ให้อยู่ไกลจากบริเวณที่พักอาศัยของคนให้มากที่สุดหรือขังไว้ในกรงหรือเล้าให้เป็นสัดส่วน

3) ถ้ามีสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ หรือหากสงสัยให้รีบแจ้ง อาสาสมัครสาธารณสุข กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที และหากผู้ใกล้ชิดสัตว์ปีกดังกล่าวป่วยมีอาการไข้คล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ให้รีบพบแพทย์ทันที

4) อย่าเสียดายสัตว์ปีกที่ป่วย หรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุ อย่างจับด้วยมือเปล่า อย่าขายหรือนำมารับประทาน เพราะอาจติดเชื้อโรคได้โดยเฉพาะในขั้นตอนของการชำแหละและประกอบอาหาร จึงควรฝังหรือเผาเพื่อทำลายอย่างถูกวิธีเท่านั้น

คำเตือนพิเศษสำหรับผู้เลี้ยงไก่พื้นบ้านและไก่ชน ไม่ควรดูดน้ำมูกหรือเสลดของไก่ชน เพราะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค และระมัดระวังการอุ้มไก่ไม่ให้สัมผัสกับหน้า จมูก ปาก เพราะสัตว์ปีก อาจมีเชื้อแต่ไม่แสดงอาการจึงควรล้างมือทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำและสบู่ทันทีทุกครั้งหลังจับต้องสัตว์ปีก

ในส่วนของประชาชนในพื้นที่ ควรหลีกเลี่ยงการเข้าพื้นที่ในฟาร์มสัตว์ปีกหรือพื้นที่ที่มีการระบาด เคร่งครัดการมีสุขอนามัยที่ดี ไม่นำสัตว์ปีกที่ป่วยมาปรุงเพื่อเป็นอาหาร บริโภคอาหาร เนื้อไก่และไข่ที่ปรุงสุก สะอาด อย่างทั่วถึง หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยปอดอักเสบ หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ และน้ำ หากพบว่ามีไข้ ไอ ที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย หรืออยู่ในพื้นที่ ๆ มีโรคไข้หวัดนกระบาดอยู่ ให้รีบไปสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านเพื่อตรวจร่างกายทันที เพราะต้องได้รับยาต้านไวรัสโดยเร็วที่สุดภายใน 48 ชั่วโมง หลังจากเริ่มมีไข้ รวมทั้งต้องได้รับยารักษาตามอาการ ภายใต้การรักษาดูแลใกล้ชิด

เลี่ยงสัมผัสสัตว์ปีกป่วยตาย ล้างมือ ปรุงสุก ปิดปากจมูก คือวิธีป้องกันไข้หวัดนก

กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/tv/2554_12_20_H1N1.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น