เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลกระทบต่อสมองส่วนหน้า ซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมสติปัญญาการตัดสินใจ ทำให้มีผลต่อปัญหาสังคมและสวัสดิภาพของคนในสังคมไทย พบว่าการดื่มได้ก่อให้เกิดความรุนแรงและอาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ เช่น ความผิดทำให้เสียทรัพย์ การบุกรุก เกี่ยวกับเพศ ต่อร่างกาย และยังพบว่าเมื่อเกิดการฆาตกรรมแล้วผ่าพิสูจน์ และนำคนที่มีเรื่องกันมาตรวจ พบว่าในร่างกายจะมีแอลกอฮอล์อยู่เสมอ
การดื่มแอลกอฮอล์ยังมีผลต่อการควบคุมและความฉับไวในการปฏิบัติการในช่วงกะทันหัน เป็นสาเหตุสำคัญของการก่อให้เกิดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำลายความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะในด้านต่างๆ ดังนี้ ทำให้การมองเห็นแคบลง มัวลง เห็นภาพซ้อน ในสภาพเช่นนี้ ผู้ขับขี่จึงรับรู้ต่อความเคลื่อนไหวรอบตัวได้น้อยลง ทำให้การสั่งการของสมองไปยังกล้ามเนื้อช้าลง เมื่อคับขันจึงอาจแตะเบรกได้ช้ากว่าปกติ และหักหลบหลีกได้ช้ากว่าปกติ ทำให้ลำพองใจในลักษณะ “เห็นสิบล้อเป็นรถอีแต๋น หรือซาเล้ง” ได้และความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและอุบัติเหตุมากกว่าคนที่ไม่ดื่ม เพิ่มขึ้นตามปริมาณแอลกอฮอล์ ดังนี้
- เสี่ยงเพิ่ม 3-5 เท่า ที่ระดับแอลกอฮอล์ 20-40 มก.เปอร์เซ็นต์ ( ประมาณไม่เกิน 1 ชั่วโมง หลังการดื่มเบียร์ 1 ขวด , การดื่มเหล้าผสม 1 แก้วหรือเบียร์ครึ่งขวดใหญ่ จะเพิ่มความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุเป็น 2 เท่า แต่ถ้าดื่มเหล้าผสม 4 แก้วหรือเบียร์ 2 ขวด จะเพิ่มความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้นเป็น 7 เท่า )
- เสี่ยงเพิ่ม 6-17 เท่า ที่ระดับแอลกอฮอล์ 50-70 มก.เปอร์เซ็นต์
- เสี่ยงเพิ่ม 29-240 เท่า ที่ระดับแอลกอฮอล์ 100-140 มก.เปอร์เซ็นต์
- เสี่ยงเพิ่ม 300 เท่า ที่ระดับแอลกอฮอล์เกิน 150 มก.เปอร์เซ็นต์
ครอบครัวเป็นหน่วยสังคมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการดื่มของสมาชิกในครัวเรือน เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีอิทธิพลต่อคุณภาพชีวิต พบว่าก่อให้เกิดปัญหาในครอบครัว 3 ด้าน คือ ปัญหาสุขภาพ การใช้ความรุนแรง และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ดังนี้
1) ปัญหาสุขภาพ เช่น สมรรถภาพทางกายและใจลดลง เพราะบาดเจ็บตามร่างกายจากการถูกทำร้ายร่างกาย อุบัติเหตุทะเลาะวิวาท และเกิดโรคภัยต่างๆ โดยพบว่าความเสี่ยงการเกิดโรค 5 อันดับแรก ของผู้ดื่มประจำเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ไม่ดื่ม โดยคิดเป็นจำนวนเท่าความเสี่ยงเรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย คือ โรคตับแข็ง 9.50 เท่า มะเร็งตับ 3.03 เท่า มะเร็งหลอดอาหาร 2.38 เท่า หัวใจเต้นผิดปกติ 2.23 เท่า ความดันโลหิตสูง 2.00 เท่า
2) ปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัว การเผชิญหน้ากับการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างพ่อแม่ หรือคนอื่นๆ ในครอบครัว จากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ครอบครัวขาดความอบอุ่นและเป็นปัญหาที่สำคัญต่อสังคมได้
3) ปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัว อันเนื่องจากปัญหาสุขภาพและการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจได้ ตั้งแต่ไม่มีเงินเหลือ จนกระทั่งเป็นหนี้
ดังนั้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงก่อปัญหาที่เกี่ยวข้องมากหลายด้าน ในศุภวารดิถีขึ้นปีใหม่ของทุกปีจึงเป็นประเพณีที่ทุกเพศ ทุกวัย จะได้ส่งความสุขให้กับเพื่อนร่วมงาน ผู้ที่เคารพนับถือ ครอบครัว และญาติพี่น้อง และนับเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดแห่งปีที่จะมอบของขวัญล้ำค่า ด้วยการ “ สวัสดีปีใหม่ไร้แอลกอฮอล์ “ กับผู้ที่เกี่ยวข้องทุก ๆ คน
ข้อความหลัก " เลิกเหล้าหมดปัญหา นำพาชีวีมีสุข”
กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี
ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/tv/2554_12_26_alc.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น