วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เตือนพื้นที่ชุมชนต่างด้าวชายแดน ผู้ปกครองควรนำบุตรหลาน อายุน้อยกว่า 5 ขวบ ไปรับวัคซีนโปลิโอ


เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก เผยว่า โรคโปลิโอ เป็นโรคติดต่อที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส เดิมเรียกว่าโรคไข้ไขสันหลังอักเสบ เชื้อนี้จะเข้าร่างกายทางปาก โดยกินเชื้อที่ติดไปกับมือ หรืออาหาร ซึ่งจะผ่านออกมากับอุจจาระของผู้ป่วย หรือผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ จากนั้นเชื้อจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนในระบบทางเดินอาหาร เข้าสู่ต่อมน้ำเหลือง เพิ่มจำนวนมากขึ้นและเข้าสู่กระแสเลือด เชื้อบางส่วนจะ ทำลายเซลล์ประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ถ้าเป็นมากก็จะเป็นอัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก และจะลีบเล็กลงในที่สุด อาการของโรค คือ ผู้ป่วยมักจะมีไข้ อาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บคอ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ บางรายปวดศีรษะมาก มีอาการตึงกล้ามเนื้อที่คอด้านหลัง ตามลำตัวและขา หากมีอาการรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้


ประเทศไทยกวาดล้างโรคโปลิโอสำเร็จแล้ว โดยพบผู้ป่วยรายสุดท้ายเมื่อปี 2540 หรือเมื่อ 14 ปีที่แล้ว แต่ยังมีความจำเป็นต้องรณรงค์ให้วัคซีนโปลิโอต่อเนื่องทุกปีเนื่องจากการเดินทางไปมาระหว่างประเทศเป็นไปได้ง่าย และประเทศใกล้เคียงยังพบมีการระบาดของโรคนี้อยู่ จึงมีโอกาสที่อาจนำเชื้อเข้ามาแพร่ให้เด็กไทยได้ อีกทั้งยังมีเด็กต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองหรือย้ายที่อยู่บ่อย จึงทำให้ได้รับวัคซีนไม่ครบถ้วน กรมควบคุมโรค จึงได้พิจารณาข้อมูลสถานการณ์และความเสี่ยงต่อการรับเชื้อโปลิโอที่อาจนำเข้ามาจากภายนอกประเทศ และเห็นควรดำเนินการรณรงค์ให้วัคซีนโปลิโอใน พ.ศ. 2554 ต่อไป เพื่อป้องกันการระบาดที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเป้าหมายพิเศษที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อที่อาจแพร่ระบาดเข้ามาได้ ดังนั้นการรณรงค์ระดมให้วัคซีนโปลิโอแก่เด็กกลุ่มเป้าหมายพิเศษนี้ จะเป็นมาตรการสำคัญที่ช่วยเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคโปลิโอในเด็กที่ยังมีภูมิคุ้มกันไม่พอที่จะป้องกันได้ เป็นกลวิธีที่มีประสิทธิภาพที่จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคโปลิโอ และการได้รับเชื้อที่อาจนำเข้ามาจากภายนอกประเทศ

การรณรงค์ให้วัคซีนโปลิโอ พ.ศ. 2554 จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้วัคซีนโปลิโอในกลุ่มเป้าหมายเด็กไทยและเด็กต่างชาติที่มักจะได้รับวัคซีนไม่ครบ และเสี่ยงต่อการรับเชื้อโปลิโอ อาจนำเข้ามาจากประเทศที่ยังมีเชื้อโปลิโอระบาคอยู่กลับเข้ามาได้ โดยกำหนดเกณฑ์พื้นที่เป้าหมายในการรณรงค์ให้วัคซีนโปลิโอ ได้แก่ พื้นที่จังหวัดหรืออำเภอ ที่แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังต่อไปนี้

ประเภทที่ 1. จังหวัดที่มีความยากลำบากในการให้วัคซีนตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในระบบปกติ หรือมีการเคลื่อนย้ายประชากรสูง ได้แก่ จังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และกรุงเทพมหานคร

ประเภทที่ 2. อำเภอที่ติดชายแดนพม่า

ประเภทที่ 3. อำเภอที่มีชุมชนชาวพม่าขนาดใหญ่

ประเภทที่ 4. อำเภอที่มีรายงานการเกิดโรคคอตีบ หรือ หัด โดยพิจารณาผู้ป่วยเฉพาะในกลุ่มอายุต่ำกว่า 5 ปี รายอำเภอ ใช้ข้อมูล 3 ปี ย้อนหลัง ( พ.ศ. 2551 – 2553 ) ถ้าพบผู้ป่วยคอตีบตั้งแต่ 1 รายขึ้นไป หรือผู้ป่วยหัดตั้งแต่ 10 รายขึ้นไป ในปีใดปีหนึ่ง ถือเป็นดัชนีชี้วัดปัญหาความครอบคลุมของการได้วัคซีนในพื้นที่นั้น

กำหนดกลุ่มประอายุประชากร ในเด็กไทย รณรงค์ในกลุ่มอายุ ต่ำกว่า 5 ปี แต่หากเป็นเด็กต่างชาติ รณรงค์ในกลุ่มอายุต่ำกว่า 15 ปี

เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวต่อว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงได้กำหนดวันรณรงค์ให้วัคซีนโปลิโอพร้อมกันทั่วประเทศ จำนวน 2 รอบ คือ รอบที่ 1 ในวันพุธที่ 15 ธันวาคม 2554 และ รอบที่ 2 ในวันพุธ ที่ 18 มกราคม 2555 โดยในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนล่างมีพื้นที่เป้าหมายในการรณรงค์ให้วัคซีนโปลิโอเป็นพิเศษ คือ จังหวัดตาก ใน 5 อำเภอดังนี้ อำเภอแม่ระมาด ท่าสองยาง แม่สอด พบพระ และอุ้มผาง จึงขอเชิญชวนทุกท่านโปรดนำบุตรหลาน อายุน้อยกว่า 5 ขวบ รับวัคซีนโปลิโอได้ฟรี ที่หน่วยบริการสาธารณสุขของรัฐทุกแห่งใกล้บ้าน



โรคโปลิโอต้องกวาดล้างให้หมดสิ้นไป พร้อมใจพาบุตรหลานไปรับวัคซีน

กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/print/2554_12_11_polio.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น