วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

หวั่นช่วงลอยกระทง เด็กและเยาวชน บาดเจ็บ ตายจากพลุ ดอกไม้ไฟ และอุบัติเหตุจมน้ำ


เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการที่ภาวะน้ำลดลงทำให้หลายพื้นที่จัดให้มีงานประเพณีลอยกระทง ในทุกปีช่วงเทศกาลนี้มักจะเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกี่ยวกับภัยสุขภาพเกิดขึ้นคู่กันอยู่เสมอ จึงขอแจ้งเตือนพร้อมให้คำแนะนำวิธีรับมือ เพื่อจะได้สนุกกับงานประเพณีได้แบบปลอดภัย คือ

ภัยแรก คือ การบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการถูกพลุ ดอกไม้ไฟระเบิดใส่ เพราะไม่ได้มีเพียงเสน่ห์แห่งความสวยงาม แต่ยังแฝงไว้ด้วยมหันตภัยอันร้ายแรง ส่วนประกอบพื้นฐานหลักๆ ของพลุ ดอกไม้ไฟคือ เชื้อเพลิง สารเผาไหม้ สารที่ทำให้เกิดแสง โดยปกติแล้วพลุและดอกไม้ไฟไม่ใช่ของเล่นอยู่แล้ว แต่ถือว่าเป็นวัตถุระเบิด แม้การจุดเทียนเล่นไฟจะเป็นหนึ่งในการละเล่นในเทศกาลลอยกระทงที่มีมายาวนาน แต่ก็ควรมีความระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะพลุ ดอกไม้ไฟเป็นวัตถุอันตราย ปัจจุบันการจุดพลุและประทัดหรือดอกไม้เพลิงที่ถูกต้อง จะอนุญาตให้เฉพาะผู้จัดงานหรือผู้ประกอบการเท่านั้น ในแต่ละปีช่วงเทศกาลลอยกระทงจะมีผู้เข้ารักษาในห้องฉุกเฉินกว่า 13,000 ราย โดยเฉพาะเด็กอายุ 10-14 ปี ร้อยละ 44 ของผู้บาดเจ็บเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และมีผู้บาดเจ็บรุนแรงกว่าร้อยละ 30 คือ คนเมาสุรา ผู้บาดเจ็บทั้งหมดพบว่า 3 เท่าเป็นเด็กผู้ชาย สาเหตุการบาดเจ็บส่วนใหญ่มาจากการจุดเล่นผิดวิธี เช่น มีการดัดแปลงให้มีแรงระเบิดหรือแรงอัดเสียงดัง เล่นจุดประทัดใส่ขวดแก้ว การโยนใส่กลุ่มเพื่อน เล่นอย่างผาดโผน ผิดวิธี การจุดไม่ติดแล้วจุดซ้ำ ทำให้เกิดระเบิดและได้รับบาดเจ็บ

โดยเฉพาะเยาวชน ผู้ปกครองควรอธิบายให้ความรู้แก่บุตรหลานเกี่ยวกับอันตราย งดเว้นการซื้อพลุ ดอกไม้ไฟ ให้บุตรหลานมาเล่นเอง และควรห้ามไม่ให้จุดดอกไม้ไฟ หรือ พลุเองอย่างเด็ดขาด ระยะปลอดภัยในการยืนดูพลุคือ 10 เมตรขึ้นไป ให้ครู ผู้ปกครอง ช่วยกันสอดส่อง ดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กแอบซื้อไปเล่นเองโดยลำพัง เพราะอาจมีอันตรายทำให้เสียโฉม นิ้วขาด อันตรายต่อแก้วหู หรือตาบอดถาวรได้ สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้จัดงานที่ได้รับอนุญาตควรจุดดอกไม้ไฟหรือพลุอย่างถูกวิธีตามข้อแนะนําอย่างเคร่งครัด จุดในที่โล่ง ราบ ห่างไกลจากบ้านเรือน ใบไม้แห้ง และวัตถุไวไฟ ตรวจสอบว่าคนอื่นอยู่ห่างจากดอกไม้ไฟหรือพลุเพียงพอ ห้ามพยายามจุดดอกไม้ไฟหรือพลุที่จุดแล้วไม่ติดอย่างเด็ดขาด ควรเตรียมถังน้ำไว้ 1 ถัง ใกล้ตัวเสมอเพื่อดับเพลิง หรือดอกไม้ไฟ พลุ ที่จุดแล้วไม่ติด ควรหาวิธีปกป้องอวัยวะที่มีโอกาสได้รับบาดเจ็บ เช่น มือ ตา ใบหน้า

ภัยที่สอง คือ การจมน้ำ ในช่วงเทศกาลลอยกระทงต่อเนื่องถึงหลังวันลอยกระทงเป็นช่วงที่เด็กไทยเสี่ยงจมน้ำเสียชีวิตสูงสุดในรอบปี มีเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำสูงกว่าปกติเกือบ 3 เท่า สาเหตุหลัก คือ การพลัดตกน้ำเพราะผู้คนเบียดเสียด และการลงน้ำไปเก็บเศษเงินในกระทง ดังนั้นผู้ปกครองควรพาเด็กไปลอยกระทงในสถานที่ปลอดภัย และถูกจัดเตรียมสำหรับลอยกระทงโดยเฉพาะ ตลิ่งต้องไม่สูงชันจนเกินไป หากมีการลงเรือต้องเตรียมเสื้อชูชีพให้พร้อมทุกครั้ง ดูแลเด็กไม่ให้คลาดสายตา จูงมือเด็กให้แน่น และไม่ปล่อยเด็กให้ลอยกระทงเพียงลำพัง หลีกเลี่ยงการพาเด็กเดินเล่นบริเวณริมน้ำเพราะมีผู้คนเบียดเสียด เสี่ยงต่อการตกน้ำ และกำชับเด็กไม่ให้ลงไปในน้ำเพื่อเก็บเงินในกระทง เพราะการแช่อยู่ในน้ำเย็นเป็นเวลานานๆ อาจทำให้เป็นตะคริวจมน้ำเสียชีวิต

เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวต่อว่า หากพบคนจมน้ำควรมีวิธีช่วยที่ถูกต้อง คือ ตั้งสติอย่าวู่วาม ไม่ควรลงไปในน้ำเพื่อช่วยคนจมน้ำทันทีทันใด ควรหาอุปกรณ์ใกล้ตัว เช่น ไม้ เชือก หรืออุปกรณ์ที่ช่วยให้ผู้ช่วยเหลือ และคนจมน้ำลอยตัวได้ เพื่อโยนหรือยื่นให้คนจมน้ำแล้วลากเข้าฝั่งโดยที่คนช่วยเหลืออยู่บนฝั่ง หากจำเป็นต้องจะลงน้ำไปช่วยเหลือ ต้องมั่นใจว่าว่ายน้ำเป็น และควรต้องมีอุปกรณ์ช่วยเหลือนำติดตัวไปด้วยเพื่อยืนให้คนจมน้ำจับแล้วลากเข้าฝั่ง ที่สำคัญไม่ควรสัมผัสคนจมน้ำโดยตรงเพราะอาจจะถูกกอดรัดและจมน้ำไปพร้อมกัน หากประชาชนพบเห็นผู้จมน้ำและช่วยเหลือด้วยตนเองไม่ได้ หรือไม่มีอุปกรณ์ ให้ตะโกนร้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น หรือพบผู้บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ที่ดูแลบริเวณนั้นๆ หรือโทรแจ้ง 1669 โดยเร็วที่สุด

ข้อความหลัก “ รู้เตรียม รู้ระวัง รู้ป้องกัน แคล้วคลาดจากอุบัติภัยและการจมน้ำ"

กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/tv/2554_11_10_loy.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น