วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เผย 5 กลวิธีคุมกำเนิดทำลายยุงพาหนะ สกัดโรคไข้เลือดออกพุ่งช่วงน้ำลด


เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงหลังน้ำลดจากภาวะน้ำท่วม พาหนะนำโรคที่มักเกิดมากตามมา คือ ยุงลายและยุงรำคาญ ซึ่งเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก โรคไข้สมองอักเสบ และยังก่อความรำคาญ โดยเฉพาะแหล่งน้ำขังนิ่งเพราะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงมากขึ้น รวมทั้งบางพื้นที่ประชาชนยังอาศัยอยู่ภายนอกอาคารบ้านเรือน ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกยุงกัดมากกว่าภาวะปกติ ดังนั้นชุมชน โรงเรียน วัด ประชาชนแต่ละครัวเรือน สามารถควบคุมกำจัดยุงพาหะนำโรคด้วยวิธีการง่ายๆ ด้วยตัวเองได้ดังนี้


1) การกำจัดยุงพาหะนำโรคด้วยสารซักล้างในครัวเรือน มี 2 วิธีดังนี้

การฉีดพ่นตัวเต็มวัย เราสามารถกำจัดยุงตัวเต็มวัยได้โดยการใช้สารซักล้างในครัวเรือน ได้แก่ น้ำยาล้างจาน แชมพู สบู่เหลวหรือผงซักฟอกผสมน้ำ นำมาฉีดพ่นกำจัดยุง บริเวณที่เกาะพักของยุง บริเวณแหล่งน้ำ หรือบริเวณที่ชื้น เช่น ในห้องน้ำ หรือตามผนังภายในภาชนะ วัสดุ ที่เก็บขังน้ำต่าง หรือฉีดพ่นบนยุงลายที่พบเห็นเกาะพักเป็นกลุ่มตามซอกมุมบ้าน บริเวณกองผ้า ผ้าห้อยแขวน บริเวณที่เก็บหมอนมุ้งใกล้ที่นอนหรือห้องนั่งเล่น การเตรียมทำโดยการเจือจางน้ำยาล้างจานกับน้ำเปล่าในอัตราส่วนผสมน้ำยาล้างจาน 1 ช้อนชาผสมกับน้ำ 1 ลิตร แล้วใช้ฉีดพ่นต่อเนื่องไปที่ตัวยุงที่เกาะพักตามมุมผนังในห้องน้ำหรือภาชนะ วัสดุที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย จะเห็นได้ว่ายุงตกจมน้ำตายทันที

การกำจัดตัวโม่งและลูกน้ำยุง เตรียมโดยใช้ผงซักฟอกทั่วไป ในอัตราส่วน ผงซักฟอก 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำในแหล่งเพาะพันธุ์ปริมาณ 2 ลิตร โดยโรยลงในแหล่งเพาะพันธุ์ต่างๆ โดยตรง ในภาชนะ วัสดุแหล่งเพาะพันธุ์ขนาดเล็กต่างๆ ผงซักฟอกจะแพร่กระจายปกคลุมทั่วผิวน้ำ เมื่อลูกน้ำและตัวโม่งของยุงขึ้นมาหายใจ จะดูดซึมเอาสารเข้าสู่ระบบหายใจ ทำให้ระคายเคืองต่อระบบ และค่อยๆ ตายไปในที่สุด

2) จัดการสภาพแวดล้อม กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ต่างๆ ไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของลูกน้ำยุง เช่น เก็บ ทำลาย ทำความสะอาดภาชนะที่สามารถขังน้ำได้ที่อยู่บริเวณรอบๆ บ้านเท่าที่ทำได้

3) ควบคุมทางกายภาพ เช่น การใช้ไม้ตบยุงแบบไฟฟ้า ตบยุงที่บินมารบกวนโดยตรง หรือหลอดไฟดักยุง

4) ใช้สารเคมี กรณีควบคุมด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล เช่น ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำ ลงในภาชนะน้ำใช้ที่ไม่สามารถปิดฝาได้ หรือการพ่นควบคุมยุงโดยการใช้สารเคมีกำจัดแมลงที่มีความปลอดภัยสูงแบบสเปรย์กระป๋อง พ่นในห้องที่ปิดมิดชิด ตามใต้ตู้ เตียง มุมอับต่างๆ ในบ้าน แล้วทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที จึงเปิดประตู หน้าต่างระบายสารเคมีออกไป และเก็บกวาดซากยุงทิ้ง ไม่ควรพ่นในห้องที่มีผู้ป่วยและเด็กอาศัยอยู่

5) การป้องกันตัวเองจากยุงกัด โดยการสวมใส่เสื้อผ้าแขน ขายาวเมื่ออยู่นอกบ้าน ทาโลชั่นป้องกันยุง และนอนในมุ้ง หรือมุ้งชุบสารเคมีกำจัดแมลงเสมอ เมือต้องนอนในห้องที่ไม่มีมุ้งลวดหรือนอนนอกบ้าน



เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวต่อว่า ยุงพาหะบางชนิดส่งผลให้เกิดโรคติดต่อมีแนวโน้มระบาดมากขึ้น ร้ายแรงอันตรายถึงชีวิต เช่น ยุงลายที่เป็นพาหะโรคไข้เลือดออก บางปีมีผู้ป่วยมากกว่า 1 แสนคนแต่ปีที่น้อยก็มีผู้ป่วยเป็นหลักหลายหมื่นคน และมีผู้เสียชีวิตบางปีเป็นหลักร้อยคน ดังนั้นประชาชนทุกคนควรร่วมมือกันกำจัดยุงและป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่อง คุมกำเนิดอย่ายอมให้ยุงเกิดมาได้ ผนึกกำลังร่วมกันทำต่อเนื่องจนเป็นนิสัย “เก็บให้เกลี้ยง ไม่เลี้ยงยุงลาย ทำลายแหล่งเพาะพันธ์ ป้องกันไข้เลือกออก“ เริ่มต้นแต่วันนี้ก็จะช่วยให้ลดผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต จากโรคไข้เลือดออก ในลูกหลานและญาติมิตรของพวกเราทุกคนลงได้

ข้อความหลัก " เก็บให้เกลี้ยง ไม่เลี้ยงยุงลาย ทำลายแหล่งเพาะพันธ์ ป้องกันไข้เลือดออก ”

กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/tv/2554_11_05_mosq.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น