วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2554

แนะครูและผู้ปกครองควรระวังสังเกตบุตรหลานใกล้ชิด ป้องกันการระบาดโรคคางทูม














เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยว่าในช่วงฤดูฝนต่อฤดูหนาวนี้อาจมีโรคหลายชนิดระบาดได้ จากที่มีการรายงานว่ามีผู้ปกครองนำบุตรหลานเข้ารับการรักษาโรคคางทูมในบางพื้นที่ในเขตภาคเหนือตอนล่างนั้น เพื่อป้องกันระบาดของโรค และให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องกับประชาชนในการดูแลบุตรหลาน ครูอนามัยและผู้ปกครองควรเฝ้าระวังสังเกตุเด็กที่อยู่ในการดูแลเพื่อป้องกันการระบาดของโรคคางทูมอย่างใกล้ชิด


โรคคางทูมพบรายงานในประเทศไทยจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค มีอัตราป่วยเฉลี่ย 17.22 ต่อประชากรแสนคน เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม paramyxovirus ที่อยู่ในน้ำลายและเสมหะของผู้ป่วย ทำให้เกิดการอักเสบของต่อมน้ำลาย โดยมากมักจะเป็นที่ต่อมน้ำลายข้างหู พบมากในเด็กอายุ 6-10 ปี อาจพบระบาดได้เป็นครั้งคราว ซึ่งติดต่อกันโดยการไอ จาม หรือหายใจรดกัน หรือโดยการสัมผัสถูกมือ สิ่งของเครื่องใช้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ จาน ชาม ฯลฯ ผู้ป่วยมักจะมีอาการนำมาก่อน 1-3 วัน ด้วยอาการไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว เจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลียและปวดในรูหูหรือหลังหู ในขณะเคี้ยวหรือกลืน ต่อมาจะมีอาการปวด บวม และกดเจ็บ บริเวณข้างหูหรือขากรรไกร ผิวหนังบริเวณนั้นอาจมีลักษณะแดง ร้อน และตึง ผู้ป่วยมักรู้สึกปวดร้าวที่หูขณะกลืน เคี้ยว หรืออ้าปาก บางรายอาจมีอาการบวมที่ใต้คางร่วมด้วย โรคนี้มักจะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ และสามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนที่มีชื่อว่าเอ็มเอ็มอาร์ (MMR) มักจะฉีดเมื่อเด็กอายุได้ 9-15 เดือน

ในส่วนของประชาชนทั่วไปให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย สังเกตเฝ้าระวังอาการของบุตรหลาน โดยหากพบอาการดังกล่าวควรแยกผู้ป่วยออกต่างหากจนกว่าคางจะยุบบวม โดยเฉพาะในผู้ใหญ่ควรเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อน หากสงสัยให้รีบพาบุตรหลานไปตรวจที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทันที

ข้อความหลัก " โรคคางทูมป้องกันได้ โดยการให้บุตรหลานไปฉีดวัคซีน ”

กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/tv/2554_10_14_Mumps.html 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น