วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

เผยวัยรุ่นหญิงอยู่หอนอกสถานศึกษาเสี่ยงท้องอายุน้อยและโรคติดต่อทางเพศ



นางภัททิมา แซวหิว พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาเด็กและเยาวชนได้ทวีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีขนาดใหญ่และมีสถาบันการศึกษาตั้งอยู่ จังหวัดพิษณุโลกเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจและการศึกษา เป็นศูนย์กลางการพัฒนาและเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคอินโดจีน อีกทั้งยังเป็นแหล่งผลิตบัณฑิตรองรับตลาดแรงงานที่ขยายตัว เพราะว่ามีสถาบันการศึกษาจำนวนมาก จึงพบว่ามีหอพักเอกชนในจังหวัดพิษณุโลกที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และที่ยังไม่ได้จดทะเบียนหรือเรียกว่า “หอพักเถื่อน” มีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะรอบๆสถานศึกษา จากข้อมูลการศึกษาพบว่าการที่เยาวชนรวมตัวกันอยู่ในหอพักนอกสถานศึกษา พบการใช้เวลาว่างที่ไม่เป็นประโยชน์ และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องเพศ ยาเสพติด การดื่มเหล้า และสูบบุหรี่ มากกว่าเยาวชนที่พักหอในสถานศึกษา มากถึงประมาณ 6 เท่า


องค์กรอนามัยโลก ได้กำหนดค่ามาตรฐานร้อยละของหญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่ตั้งครรภ์ ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ต่อผู้หญิงทุกกลุ่มอายุ แต่ค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมาคือ ร้อยละ 18.97 หลังจากนั้นก็ลดลงเรื่อยๆแต่ก็ยังสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด การมีหญิงคลอดบุตรที่อายุน้อยกว่า 20 ปี สูงกว่ามาตรฐาน จะเป็นปัญหาสังคมที่ส่งผลกระทบต่อด้านสุขภาวะ เศรษฐกิจ และสังคม ที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยรีบด่วน สาเหตุส่วนมากของการท้องในกลุ่มเยาวชน คือ 1) มาจากครอบครัวที่มีระดับเศรษฐกิจและการศึกษาในระดับต่ำ รายได้น้อย 2) อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม 3) ขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศศึกษา การวางแผนครอบครัว การคุมกำเนิดที่ถูกต้อง 4) มีเจตคติและค่านิยมต่อการตั้งครรภ์หรือการยอมรับการมีบุตร 5) ขาดวุฒิภาวะที่เหมาะสมด้านอารมณ์และประสบการณ์

จากการสำรวจสภาวการณ์เด็กและเยาวชนจังหวัดพิษณุโลกประจำปี 2551 – 2552 พบว่าทัศนคติของวัยรุ่นเปลี่ยนไปโดยมองว่าการมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องส่วนตัวและปกติ เกือบครึ่งหนึ่งยอมรับว่าเคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ยอมรับว่าการอยู่ก่อนแต่ง และบางส่วนมีความคิดว่าจะมีเพศสัมพันธ์ก่อนเรียนจบ ผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ ปัญหาท้องก่อนแต่งงาน การทำแท้ง การทอดทิ้งหรือฆ่าทารก จังหวัดพิษณุโลก จึงมีการดำเนินงานยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม โดยใช้กลไกของคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ ที่ผ่านมาคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดพิษณุโลก เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะทำงานดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการป้องกัน 2). ด้านการช่วยเหลือและบำบัดฟื้นฟู 3) การเสริมสร้างบทบาทและองค์ความรู้แก่กลุ่มผู้นำทางความคิดของเด็กและเยาวชน 4) การขจัดสิ่งยั่วยุและอิทธิพลจากสื่อ 5) ด้านการผลักดันนโยบาย 6) การสำรวจข้อมูล การพัฒนาระบบงาน และการติดตาม

นางภัททิมา กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการแก้ไขปัญหานี้ควรมียุทธศาสตร์การป้องกันการตั้งครรภ์และโรคเอดส์ในวัยรุ่นโดยเฉพาะ เน้นในเรื่องการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ของหญิงที่อายุต่ำกว่า 20 ให้มากขึ้น รณรงค์ให้ความรู้เรื่องเพศศึกษา อนามัยเจริญพันธ์ เพื่อการป้องกัน การคุมกำเนิด การวางแผนครอบครัว ส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยป้องกันโรคและตั้งครรภ์ ปลูกฝังทัศนคติที่ถูกต้องในเรื่องความเป็นตัวตนชาย และ หญิง ผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ อยู่ในแผนแม่บท นโยบายระดับประเทศ ระดับจังหวัด รวมทั้งแผนระดับอำเภอ ตำบล มีการบูรณาการการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ โดยผ่านการใช้แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ มีการติดตาม กำกับประเมินผล ศึกษาวิจัยหารูปแบบการดำเนินงานให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่ต่อไป

ข้อความหลัก " ไม่ใช้เข็มร่วมกัน สวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง หยุดยั้งโรคเอดส์”

” สวมเสื้อผ้าปกป้องร่างกาย สวมถุงยางอนามัยป้องกันโรค ”

กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/print/2554_09_11_youth.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น