เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก เผยว่า โรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อที่ปัจจุบันมีแนวโน้มระบาดมากขึ้น บางปีมีผู้ป่วยมากกว่า 1 แสนคนแต่ปีที่น้อยก็มีผู้ป่วยเป็นหลักหลายหมื่นคน และมีผู้เสียชีวิตบางปีเป็นหลักร้อยคน ณ เดือนมิถุนายน 2554 ข้อมูลจากสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค รายงานว่าในระดับประเทศไทยมีผู้ป่วยไข้เลือดออกระบาดไปทั่วทุกภาคของประเทศไทยในปี 2554 นี้พบผู้ป่วยไปแล้วประมาณ 22,000 ราย เสียชีวิต 13 ราย
ส่วนในเขตภาคเหนือตอนล่าง 5 จังหวัด กลุ่มระบาดวิทยาและข่าวกรอง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก รายงานว่ามีผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมรวม 2,020 ราย และเสียชีวิตไปแล้ว 2 ราย กลุ่มอายุที่พบสูงสุด คือกลุ่มอายุ 10 - 14 ปี รองลงมา คือ ช่วงอายุ 5 - 9 ปี และ 15 - 24 ปี ตามลำดับ
โรคไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะ ยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษาโดยเฉพาะ อาการป่วยคือ จะมีไข้สูง (ไข้สูงตลอดวันทั้งวัน ) ประมาณ 2 – 7 วัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ส่วนใหญ่มีอาหารหน้าแดง อาจมีจุดแดง เล็ก ๆ ตามลำตัว แขน ขา มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และเบื่ออาหาร ต่อมาไข้จะเริ่มลง ในระยะนี้ต้องระวังเป็นพิเศษเพราะ อาจเกิดอาการรุนแรง โดยผู้ป่วยจะกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น หรือมีเลือดออกผิดปกติ เช่น ถ่ายดำ หรือไอปนเลือด อาจมีภาวะช็อค และเสียชีวิตได้ หากตนเอง บุตรหลาน หรือคนในครอบครัวมีอาการดังกล่าวให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวลดไข้ ใช้ยาลดไข้พาราเซตามอล ห้ามใช้ยาแอสไพรินเพราะจำทำให้เลือดออกง่ายขึ้น ให้ดื่มน้ำผลไม้ หรือน้ำตาลเกลือแร่ บ่อย ๆ และควรรีบไปพบแพทย์ทันทีให้เร็วที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงการเสียชีวิต
เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวต่อว่าแม้แต่ขยะที่มีน้ำขังอยู่น้อยนิดก็สามารถเป็นแหล่งเพาะพันธ์ของยุงลายได้ คำแนะนำ
การป้องกันโรคที่ดีที่สุด คือ การป้องกันตั้งแต่ต้นเหตุ โดยอย่าให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณบ้านและชุมชน จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกคนมาระดมร่วมมือกันดำเนินมาตรการทั้ง 3 ร คือ เร่งป้องกันและควบคุมโรคในโรงเรียน โรงเรือน (ที่อยู่อาศัยรวมทั้งวัด) และโรงพยาบาล สำรวจตรวจตราสถานที่เหล่านี้โดยรอบ แล้วสร้างค่านิยมสังคมร่วมกันทางพฤติกรรมป้องกันโรคไข้เลือดออก ด้วยมาตรการ 5 ป ได้แก่ 1) ปิดฝาภาชนะขังน้ำทุกชนิด 2) เปลี่ยนน้ำหรือคว่ำภาชนะทุกวันหยุดของสัปดาห์ 3) ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะ 4) ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมเพื่อไม่ให้เป็นที่เพาะพันธุ์ของยุง 5) ปฏิบัติเป็นประจำต่อเนื่องจนเป็นนิสัย นอกจากนั้นระวังอย่าให้ยุงกัดในตอนกลางวัน โดยการนอนกางมุ้ง ทายากันยุง ฯลฯ
ขอให้ประชาชนร่วมมือกันกำจัดและป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่อง อย่ายอมให้ยุงเกิดมาได้ ผนึกกำลังร่วมกันทำทุกคน ทุกบ้าน ทุกชุมชน ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอ ทุกจังหวัด ทำต่อเนื่องจนเป็นนิสัย “เก็บให้เกลี้ยง ไม่เลี้ยงยุงลาย ทำลายแหล่งเพาะพันธ์ ป้องกันไข้เลือกออก“ เริ่มต้นแต่วันนี้ก็จะช่วยให้ลดผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกในลูกหลานและญาติมิตรของพวกเราทุกคนลงได้
ข้อความหลัก “เก็บให้เกลี้ยง ไม่เลี้ยงยุงลาย ทำลายแหล่งเพาะพันธ์ ป้องกันไข้เลือดออก”
กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี
สุทธิพร ถิ่นจันทร์ / ข่าวกรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น