วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

น้ำลดโรคร้ายผุด เดือนเกษตรกรและผู้อ่อนแอ ระวังพิษภัยแฝงในดินและน้ำ เกิดโลหิตเป็นพิษร้ายแรง


นางสาวพัชรา ศรีดุรงคธรรม หัวหน้ากลุ่มระบาดวิทยาและข่าวกรอง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ในสภาวะหลังน้ำลดมีภัยเงียบจากโรคติดต่อที่ควรระวังอีกโรคหนึ่ง คือ โรคเมลิออยโดซิส โรคนี้เป็นโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียอีกโรคหนึ่งที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย และมีแนวโน้มสูงขึ้น โรคนี้พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ประมาณ 2,000 – 3,000 คนต่อปี แต่พบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง พบมีรายงานผู้ป่วยสูงขึ้นทุกปี ในปี 2554 นี้มีผู้ป่วยแล้วรวม 85 ราย อัตราป่วยสูงที่สุดคือ จังหวัดเพชรบูรณ์ รองลงมาคือ จังหวัดอุตรดิตถ์ พิษณุโลก ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ชาวนาหรือผู้ทำงานกับดินและน้ำ โดยเฉพาะผู้ทีมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคไต ผู้ที่มีสุขภาพอ่อนแอ เช่น ติดสุรา รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน โรคนี้พบมากในช่วงฤดูฝนหรือหลังฝนตก 1 – 2 เดือน คาดว่าน่าจะเกิดจากการชะเอาเชื้อในดินมาอยู่บนผิวดินทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย


เชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ คือ เชื้อแบคทีเรียชื่อเบอโคเดอเรีย สูโดมัลลิไอ ( Burkholderia pseudomallei ) , ( Pseumonas pseudomallei ) ซึ่งพบได้ในคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น แพะ แกะ หมู โค กระบือ จึงพบเชื้อได้ทั่วไปในดินและน้ำ คนสามารถรับเชื้อได้จากการสัมผัสกับดินหรือน้ำผ่านทางบาดแผลที่ผิวหนังหรือหายใจเอาฝุ่นจากดินที่มีเชื้อหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อเจือปน เชื้อสามารถอยู่ได้ในซากสัตว์ที่อยู่ในดินและน้ำ เชื้อตัวนี้มีมีความพิเศษที่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองโดยหลับหลีกระบบการตรวจสอบสิ่งแปลกปลอมของร่ายกาย ทำให้สามารถหลบซ่อนอยู่ในร่ายกายของเราได้นาน 20 – 30 ปี ระยะฟักตัวไม่แน่นอนที่พบบ่อยคือ 2 – 20 วัน หรืออาจเป็นปี

อาการและอาการแสดง เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดการอักเสบตามอวัยวะต่าง ๆ ได้ทุกระบบ อาการของโรคจะแตกต่างกันไปขึ้นกับตำแหน่งของอวัยวะที่เกิดโรค โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีไข้สูง หายใจไม่สะดวก หรือหอบเหนื่อย ซึมแบบไม่รู้ตัวหรือบางรายอาจมีอาการคล้ายปอดบวมรุนแรง ในรายที่อาการรุนแรงเชื้อจะกระจายเข้าไปทั่วร่างกายมีโอาสตายได้ ภายใน 2-3 วัน บางรายอาจมีอาการคล้ายวัณโรคจึงได้ชื่อว่าเป็นโรค “ นักเลียนแบบ “ แต่โดยสรุปแบ่งเป็น 3 แบบใหญ่ ๆ คือ

1 .ไข้นานไม่ทราบสาเหตุ น้ำหนักลด ต่อมาจึงเกิดอาการรุนแรงขึ้น

2. อาการติดเชื้อเฉพาะที่ เช่น ที่ปอด อาการเหมือนปอดอักเสบบางรายอาจเป็นฝีในตับ ฝีในกระดูก ฝีที่ผิวหนัง หากไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องอาจเกิดอาการรุนแรง

3. การติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดทั่วร่างกาย อาจรุนแรงเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว

นางสาวพัชรา กล่าวต่อว่า ในการวินิจฉัยโรคนั้น เนื่องจากอาการของโรคเมลิออยโดซิส มีอาการคล้ายกับโรคติดเชื้ออื่น ๆ อีกหลายโรค เช่น เลปโตสไปโรซีส สครับไทฟัส มาลาเรีย ดังนั้นการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติจึงมีความสำคัญมาก การวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง รวดเร็ว จะมีผลต่อการรักษาและการรอดชีวิตของผู้ป่วย การตรวจมีหลายวิธีทั้งการเพาะเชื้อ ตรวจระดับภูมิคุ้มกันต่อโรค การตรวจหาสารพันธุกรรม จากตัวอย่างเลือด เสมหะน้ำจากปอด หนองจากฝี หรือปัสสาวะ ตามลักษณะอาการ ในส่วนการรักษาต้องใช้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมกับเชื้อ

สำหรับประชาชนทั่วไปนั้นการป้องกันมีความสำคัญที่สุด โดยการป้องกันไม่ให้บาดแผลสัมผัสกับดินและน้ำ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคเรื้อรัง หากเลือกไม่ได้หรือมีความเป็นต้องสวมถุงมือ รองเท้ายาง เพื่อป้องกัน และควรล้างมือและเท้าให้สะอาดทันทีหลังเสร็จจากการสัมผัส

ข้อความหลัก "บาดเจ็บ เกิดแผล เสี่ยงโรคเมลิออยโดซิส รักษาชีวิตด้วยอุปกรณ์ป้องกัน ”

กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/tv/2554_11_16_Melioi.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น