เมื่อวันที่
3 มิถุนายน 2555 เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ
หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่
9 พิษณุโลก
กรมควบคุมโรค เผยว่าไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลมักระบาดในช่วงฤดูฝน
โดยเฉพาะเดือน มิถุนายน ถึง กรกฎาคม
ของทุกปีเพราะมีสภาวะอากาศอับชื้นและหนาวเย็น
ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำลง จึงมีโอกาสติดโรคไข้หวัดใหญ่ได้ง่าย
ในแต่ละปีกระทรวงสาธารณสุขรายงานว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 7-9 แสนราย ในจำนวนนี้มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวม
ต้องรับไว้โรงพยาบาลเกือบ 76,000 ราย ตั้งแต่วันที่ 1
มกราคม -14 พฤษภาคม 2555 ทั่วประเทศมีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 11,380 ราย
แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต
โรคไข้หวัดใหญ่
เกิดจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย สามารถติดต่อได้ง่าย โดยเชื้อจะฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ เมื่อมีการไอ
จามรดกัน การหายใจสูดลมหายใจเอาเชื้อเข้าไป
การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือมือสัมผัสเชื้อไวรัสแล้วนำมาขยี้ตา จับต้องจมูก
ปากเชื้อโรคจะไปเจริญอยู่ในลำคอและเยื่อบุทางเดินหายใจของผู้ป่วย
ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้มากที่สุดในช่วงป่วย 10 วันแรก
ส่งผลให้ผู้ได้รับเชื้อโรคจะมีอาการตัวร้อน
มีไข้สูง 38 - 40 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3 - 4 วัน ปวดศีรษะมาก มีไข้ หนาวสั่น
ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ น้ำมูลไหล คัดจมูก ไอ
จาม เจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย
อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 5 - 7 วัน
กลุ่มเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังมิให้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ หญิงมีครรภ์ คนอ้วน
ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ผู้พิการทางสมอง เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทำได้โดย
การล้างมือบ่อย ๆ จนเป็นนิสัย ก่อนกินอาหาร ก่อนและหลังเตรียมหรือปรุงอาการ
หลังการขับถ่าย หลังหยิบจับสิ่งสกปรก หลังสัมผัสผู้ป่วยหรือสัมผัสสัตว์เลี้ยง
และทุกครั้งที่กลับจากนอกบ้าน ใช้ผ้าสะอาดปิดปาก ปิดจมูก เวลาไอ จาม
และสวมหน้ากากอนามัย
หลีกเลี่ยงการใช้มือที่ไม่ได้ล้างสัมผัสบริเวณใบหน้าโดยเฉพาะตา จมูก ปาก
หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยและอยู่ในสถานที่มีคนอยู่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก
และการฉีดวัคซีนป้องกันตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข
โดยในปี 2555
นี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ได้รณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และป้องกันการได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อน
ต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจ และระบบอื่นๆ รวม 3 สายพันธุ์ คือ ชนิด เอ เอช 1 เอ็น 1(A H1N1)
ชนิดเอ เอช 3 เอ็น 2 (A H3N2) และชนิดบี (B) ซึ่งเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่พบบ่อยในไทยและทั่วโลก เพื่อฉีดให้กลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม รวมทั้งหมด 3.55
ล้านคน ฟรีได้ที่
โรงพยาบาลของรัฐและสถานพยาบาลเอกชนที่ร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ทั่วประเทศ ตั้งแต่ 1 มิถุนายน – 30 กันยายน 2555 ได้แก่
1)
ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด โรคหัวใจ
โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวายเรื้อรัง มะเร็งที่กำลังรับเคมีบำบัด เบาหวาน
ธาลัสซีเมีย และภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมทั้งผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ
2)
ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป
3)
ผู้มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม
4)
ผู้พิการทางสมองช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
5)
เด็กอายุ 6 เดือน - 2 ปี
6)
หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป และ
7)
บุคลากรทางการแพทย์เจ้าหน้าที่ที่ให้การดูแลรักษาผู้เจ็บป่วย
และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดสัตว์ปีก
เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวแนะนำว่า หากประชาชนมีอาการป่วยรุนแรง เช่น
มีไข้สูงและไม่ลดลงภายใน 2 วัน มีอาการไอมาก เจ็บหน้าอก หายใจถี่ หอบเหนื่อย ซึม ในเด็กเล็กอาจทำให้เด็กร้องไห้งอแงมาก กินอาหารไม่ได้หรือกินได้น้อยมาก อาเจียน
ท้องเสีย ขอให้รีบพาไปสถานบริการสาธารณสุขใกล้เคียงทันที ผู้ที่กำลังป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ไม่ควรออกกำลังกายหรือทำงานหนัก เนื่องจากอาจทำให้อาการทรุดลงจากการติดเชื้อลุกลามไปที่ปอดได้
หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการสายด่วน โทรศัพท์ 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค
โทรศัพท์ 0 2590 3333
ข้อความหลัก " ล้างมือ ปิดปาก จมูกเมื่อไอ จาม ฉีดวัคซีนเร็วไว ป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้"
กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น